สำนักงานทนายความ นิติศาสตร์หาดใหญ่ ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โทร 084-1356583

  เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก       

 

การจดทะเบียนหย่า

หลักเกณฑ์
การจดทะเบียนหย่า สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
          1. การจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย โดย
               -การจดทะเบียนหย่าในสำนักทะเบียนเดิม
               -การจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน
          2. การหย่าโดยคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล
ขั้นตอนการหย่า
กรณีการจดทะเบียนหย่าในสำนักงานเขต

          1. คู่สมรสทำการตกลงเรื่องของทรัพย์สินต่างๆ เรื่องของการดูแลหรือการปกครองบุตร (ถ้ามี) หรือตกลงกันในเรื่องอื่นๆ โดยทำเป็นหนังสือหย่า
          2. ให้คู่สมรสยื่นคำร้องพร้อมหนังสือหย่าต่อนายทะเบียน เพื่อทำการจดทะเบียนหย่า
กรณีการจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน
          1. คู่สมรสทำการตกลงเรื่องของทรัพย์สินต่างๆ เรื่องของการดูแลหรือการปกครองบุตร (ถ้ามี) หรือตกลงกันใน 
                                                    เรื่องอื่นๆ โดยทำเป็นหนังสือหย่า
          2. คู่สมรสทำการตกลงกันก่อนว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ยื่นคำร้องก่อนและหลัง และแต่ละฝ่ายได้ไปยื่นคำร้องขอจด 
  ทะเบียนหย่า ณ สำนักทะเบียนที่ใด
          3. คู่สมรสยื่นคำร้องพร้อมหนังสือหย่าต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนตามที่ได้ตกลงกันไว้
การจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาของศาล
          หากศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้หย่า คู่สมรสไม่ต้องไปทำการจดทะเบียนหย่าอีก แต่หากคำพิพากษานั้นมีเงื่อนไขให้คู่สมรสไปทำการจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียนด้วย คู่สมรสต้องไปทำการ
จดทะเบียนหย่าด้วย การหย่านั้นจึงจะสมบูรณ์
เอกสารที่ใช้ประกอบ
          1. บัตรประจำตัวประชาชน
          2. ใบสำคัญการสมรส
          3. หนังสือหย่า หรือหนังสือสัญญาหย่า

 

 


การจดทะเบียนสมรส

หลักเกณฑ์ในการจดทะเบียนสมรส
          1. ผู้ยื่นคำขอจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ และหากมีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องนำบิดามารดา หรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย
          2. ในกรณีที่ผู้ขอมีอายุต่ำกว่า 17 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำการสมรสกันได้เสียก่อน
          3. กรณีผู้ที่มีอายุ 20 ปี ขึ้นไป สามารถขอจดทะเบียนได้ด้วยตัวเอง
          4. ผู้ยื่นคำขอต้องไม่เป็นคนวิกลจริต หรือเป็นคนไร้ความสามารถ
          5. ผู้ยื่นคำขอต้องไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาเดียวกัน
          6. ไม่ได้จดทะเบียนสมรสอยู่กับคนอื่นอยู่ก่อนแล้ว
          7. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะจดทะเบียนสมรสกับบุตรบุญธรรมของตัวเองไม่ได้
          8. หญิงหม้ายถ้าจะทำการจดทะเบียนสมรสใหม่ได้ เมื่อการสมรสครั้งก่อนได้สิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
               -เมื่อได้คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
               -ได้ทำการสมรสกับคู่สมรสคนเดิม
               -มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
               -เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้จดทะเบียนสมรสกันได้
          9. กรณีชายหญิงที่มาขอจดทะเบียนนั้น หากยังมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ กรณีนี้อาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ทำการสมรสกันได้
เอกสารที่ต้องใช้
          1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ราชการออกให้
          2. สำเนาหนังสือเดินทาง กรณีหากเป็นชาวต่างชาติ
          3. หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูต หรือสถานกงสุล 
          4. สำเนาทะเบียนบ้าน
ขั้นตอนการดำเนินงาน
          1. การจดทะเบียนสมรสนั้น สามารถไปยื่นคำร้องจดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรสกันแต่อย่างใด
          2. ให้คู่สมรสยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อเจ้าหน้าที่ หรือนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานทะเบียนเขตแล้วแต่กรณี 
          3. หากคู่สมรสยังมีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ต้องนำบิดาและมารดา หรือผู้ปกครองโดยชอบธรรมมาให้ความยินยอมในการจดทะเบียนสมรสด้วย
          4. หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายเป็นคนต่างด้าว ต้องขอหนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูต หรือกงสุลสัญชาติของตัวเอง โดยหนังสือรับรองนั้นต้องทำการแปลเป็นภาษาไทย และมีคำรับรองการแปลว่าถูกต้อง ยื่นพร้อมกับคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตแล้วแต่กรณี

 

 


การจดทะเบียนรับรองบุตร

                  การจดทะเบียนรับรองบุตร เป็นเรื่องของการที่พ่อแม่ของเด็กไม่ได้ทำการจดทะเบียนสมรสกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อมีลูกขึ้นมา กฎหมายจึงถือว่าพ่อของเด็กนั้นไม่ใช่พ่อของลูกตามกฎหมาย ทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่มีสิทธิในการเป็นบิดากับบุตรตามกฎหมาย เช่น สิทธิในการรับมรดก สิทธิที่จะได้รับการอุปการะเลี้ยงดู เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้ผูกพันตามกฎหมาย ผู้เป็นพ่อจึงต้องไปทำการยื่นคำขอจดทะเบียนรับรองบุตรอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าเด็กนั้นเป็นลูกของตัวเอง 
ขั้นตอนการดำเนินการ
          1. ให้บิดาไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตร ต่อนายทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขต กรณีที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร
          2. เด็กและมารดาของเด็กต้องให้ความยินยอมในการจดทะเบียนในครั้งนี้ด้วยทั้งสองคน ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กคนใดคนหนึ่งไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ เช่น เด็กยังเล็กเกินไปที่จะให้ความยินยอม หรือมารดาเด็กตาย เป็นต้น กรณีนี้การจดทะเบียนรับรองบุตรนั้นจะต้องมีคำพิพากษาของศาลเสียก่อน
เอกสารที่ต้องใช้ประกอบ
          -บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่เกี่ยวข้อง
          -ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของผู้ที่เกี่ยวข้อง
          -ใบสูติบัตรของบุตร
          -หนังสือแสดงความยินยอมของบุตรและของมารดา
          -พยานบุคคล 2 คน

 

 


การแจ้งย้ายที่อยู่

การแจ้งย้ายออกจากบ้าน
         เมื่อผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านย้ายออกไปจากบ้านที่ตนมีชื่ออยู่ ไม่ว่าจะไปประกอบอาชีพ หรือย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น จะต้องแจ้งการย้ายออกต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ย้ายออกจากบ้าน โดยผู้มีหน้าที่แจ้งย้าย คือ เจ้าบ้านของบ้านที่มีคนย้ายออก หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้านให้แจ้งการย้ายแทน
สถานที่แจ้งการย้ายที่อยู่
          ถ้าบ้านของคนย้ายออกอยู่ในเขตท้องที่ที่ว่าการอำเภอ ให้แจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านที่บ้านหลังนั้นตั้งอยู่ โดยผู้ใหญ่บ้านในฐานะนายทะเบียนผู้รับแจ้งประจำหมู่บ้าน จะรับแจ้งการย้ายที่อยู่ และออกหลักฐานใบรับแจ้งย้ายที่อยู่ (ท.ร. ๖ ตอนหน้า) ให้เป็นหลักฐาน  เมื่อได้รับใบรับแจ้งการย้ายที่ออยู่แล้ว เจ้าบ้านจะต้องนำหลักฐานดังกล่าวไปแจ้งต่อนายทะเบียนที่สำนักงานทะเบียนของอำเภอเพื่อให้ขอออกใบแจ้งย้ายที่อยู่  อย่างไรก็ตามหากเจ้าบ้านสามารถที่จะไปแจ้งการย้ายออกที่งานทะเบียนของที่ว่าการอำเภอได้โดยตรง โดยไม่ต้องทำการแจ้งกับผู้ใหญ่บ้านเลยก็ได้ โดยเมื่อนายทะเบียนรับแจ้งการย้ายแล้วจะออกแจ้งการย้ายที่อยู่ ตอน1 และตอน 2 ให้เป็นหลักฐาน เพื่อนำไปแจ้งย้ายเข้าบ้านหลังที่ไปอาศัยอยู่ใหม่ได้ 
          ถ้าบ้านที่คนย้ายออกอยู่ในเขตท้องที่เทศบาล สามารถไปแจ้งการย้ายออกที่งานทะเบียนในสำนักงานเขตเทศบาลนั้นได้ กรณีนี้จะไม่มีหลักฐานใบรับแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร. ๖ ตอนหน้า)
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
          1. บัตรประจำตัวของเจ้าบ้าน หรือของผู้ที่ได้รับมอบหมาย
          2. บัตรประจำตัวของคนที่ย้ายออก
          3. ใบรับแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร. ๖ ตอนหน้า) ที่ผู้ใหญ่บ้านออกให้ (ถ้ามี)
          4. สำเนาทะเบียนบ้านที่คนย้ายออกมีชื่ออยู่

การแจ้งย้ายเข้าอยู่ในบ้าน
         เมื่อมีคนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน จะต้องแจ้งการย้ายเข้าต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นเข้ามาอยู่ในบ้าน โดยผู้มีหน้าที่แจ้งการย้ายเข้าคือ เจ้าบ้านของบ้านที่มีคนย้ายเข้า หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้านให้แจ้งการย้ายแทน
สถานที่แจ้งการย้ายที่อยู่
         ถ้าบ้านที่ย้ายเข้าอยู่ในเขตท้องที่เทศบาล ก็ให้ไปแจ้งย้ายเข้าที่งานทะเบียนในสำนักงานทะเบียนของเทศบาลนั้น
         ถ้าบ้านที่ย้ายเข้าอยู่นอกเขตเทศบาล ก็ให้ไปแจ้งยังงานทะเบียนของที่ว่าการอำเภอในท้องที่ที่ตั้งอยู่นั้น

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
         1. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
          2. บัตรประจำตัวประชาชนของคนที่ย้ายเข้า (ถ้ามี)
          3.ใบรับแจ้งการย้ายที่อยู่ ตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ที่ได้มาจากการแจ้งย้ายออก
          4. สำเนาทะเบียนบ้านที่จะย้ายชื่อเข้าไปอยู่ใหม่
          การไม่แจ้งย้ายออกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่มีคนย้ายออกจากบ้าน และการไม่แจ้งย้ายเข้าภายใน 15 วัน นับแต่วันที่มีคนเข้ามาอยู่อาศัยภายในบ้าน เป็นความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

การแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง
          เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านซึ่งตั้งอยู่ต่างท้องที่กับบ้านที่ผู้นั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยผู้ย้ายที่อยู่ไม่ต้องกลับไปแจ้งการย้ายออก ณ สำนักทะเบียนที่บ้านเดิมตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ผู้ย้ายที่อยู่สามารถยื่นคำร้องขอแจ้งการย้ายออกและย้ายเข้าในคราวเดียวกันได้ที่สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาล ซึ่งบ้านที่จะย้ายเข้าไปอยู่อาศัยนั้นตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ เรียกว่าการแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
         1. บัตรประจำตัวของเจ้าบ้านที่จะย้ายเข้า
          2. บัตรประจำตัวของผู้ที่ย้ายเข้าอยู่ในบ้าน
          3. หนังสือแสดงความยินยอมของเจ้าบ้านที่อนุญาตให้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน
          4. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ย้ายเข้าไปอยู่ใหม่

การแจ้งย้ายที่อยู่ของคนที่ไปต่างประเทศ
         เมื่อคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อไปประกอบอาชีพ หรือไปอยู่อาศัยเป็นเวลานาน หรือไปศึกษาเล่าเรียน จะต้องแจ้งย้ายออกโดยผู้มีหน้าที่แจ้งย้ายได้แก่ เจ้าบ้านของบ้านที่มีคนไปต่างประเทศ หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้านให้แจ้งการย้ายแทน และเมื่อนายทะเบียนรับแจ้งการย้ายแล้ว จะเพิ่มชื่อคนที่ย้ายออกนั้นไว้ในทะเบียนบ้านชั่วคราวสำหรับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ เมื่อบุคคลดังกล่าวเนทางกลับประเทศไทย ก็สามารถขอแจ้งย้ายชื่อกลับไปเข้าทะเบียนบ้านตามเดิมได้
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
          1. บัตรประจำตัวเจ้าบ้าน หรือผู้ที่เจ้าบ้านมอบหมายให้ไปแจ้งแทน
          2. สำเนาทะเบียนบ้านที่คนไปต่างประเทศมีชื่ออยู่
          3. หลักฐานการเดินทางไปต่างประเทศของคนที่จะย้ายออก (ถ้ามี)
การแจ้งย้ายที่อยู่ของคนที่ออกไปจากบ้านเป็นเวลานานและไม่รู้ว่าอยู่ที่ใด
          ถ้าคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน โดยที่เจ้าบ้านและบุคคลในบ้านไม่รู้ว่าไปอยู่อาศัยอยู่ที่ใด มีชีวิตอยู่หรือไม่ จะต้องแจ้งย้ายบุคคลนั้นออกจากทะเบียนบ้านภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ออกจากบ้านไปครบ 180 วัน โดยผู้มีหน้าที่แจ้งย้ายได้แก่ เจ้าบ้านของบ้านที่มีคนย้ายออก หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้านให้แจ้งการย้ายแทน  และเมื่อนายทะเบียนรับแจ้งการย้ายออกแล้วจะเพิ่มชื่อคนที่ออกไปจากบ้านเป็นเวลานานไว้ในทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียน ถ้าบุคคลนั้นปรากฏตัวขึ้นภายหลัง ก็สามารถขอแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลางไปเข้าบ้านที่อาศัยอยู่จริงได้
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
         1. บัตรประจำตัวของเจ้าบ้าน หรือของผู้ที่เจ้าบ้านมอบหมายให้ไปแจ้งแทน
          2. สำเนาทะเบียนบ้านที่คนออกไปจากบ้านมีชื่ออยู่
          3. หลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับตัวบุคคลที่ออกไปจากบ้าน เช่น สำเนาบัตรประจำตัว เป็นต้น (ถ้ามี)

การแจ้งตาย

1. กรณีตายในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลต่างๆ  
          เมื่อมีคนตายในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลต่างๆ ผู้รักษาก่อนตายจะต้องออกหนังสือรับรองการตาย (ท.ร. ๔/๑) ให้ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้ในการแจ้งตาย โดยบุคคลที่มีหน้าที่ในการแจ้งการตายในกรณีนี้ ได้แก่
            1. หัวหน้าของโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลนั้น ซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าบ้าน แล้วแต่กรณี
            2. บุคคลที่เจ้าบ้านมอบหมายให้แจ้งการตายแทน
ระยะเวลาในการแจ้งตาย
          ต้องทำการแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่บุคคลนั้นตาย
สถานที่แจ้งการตาย
           - ถ้าโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่มีคนตายนั้น ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ให้แจ้งการตายที่งานทะเบียนของสำนักเทศบาลในท้องที่นั้นๆ
           - ถ้าโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่มีคนตายนั้น ตั้งอยู่นอกเขตเทศบาล ให้แจ้งการตายที่งานทะเบียนของ ณ ที่ว่าการอำเภอในเขตท้องที่นั้นๆ
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
          1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งการตาย หรือของผู้ที่ได้รับมอบหมายการแจ้งนั้น
          2. บัตรประจำตัวประชาชนของคนตาย (ถ้ามี)
          3. หนังสือรับรองการตาย (ท.ร. ๔/๑) ที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล ออกให้
          4. สำเนาทะเบียนบ้านที่คนตายมีชื่ออยู่  (ถ้ามี)
กรณีคนตายนอกสถานพยาบาล
          1. กรณีคนตายในบ้าน เช่น บ้านของคนตายเอง บ้านของญาติพี่น้อง บ้านของเพื่อนบ้าน ในโรงงาน หรือสถานประกอบการต่างๆ เป็นต้น บุคคลผู้มีหน้าที่แจ้งการตาย ได้แก่
             1. เจ้าบ้านของบ้านที่มีคนตาย
             2. ผู้พบศพ (กรณีไม่มีเจ้าบ้าน) 
             3. บุคคลที่ได้รับมอบหมายให้แจ้งการตายแทน
          การแจ้งการตายกรณีนี้ จะต้องแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย หรือเวลาที่พบศพ โดยให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
          - ถ้าบ้านที่คนตายอยู่ในเขตท้องที่ที่ว่าการอำเภอ ให้แจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านที่มีคนตายหรือพบศพนั้น โดยผู้ใหญ่บ้านในฐานะนายทะเบียนผู้รับแจ้งประจำหมู่บ้านจะรับแจ้งการตาย  และออกหลักฐานรับแจ้งการตาย (ท.ร. ๔ ตอนหน้า) ให้ไว้เป็นหลักฐาน เมื่อได้รับใบรับแจ้งการตายแล้ว เจ้าบ้านหรือ ผู้พบศพจะต้องนำหลักฐานดังกล่าวไปแจ้งต่อนายทะเบียน เพื่อขอให้ออกใบตายหรือใบมรณบัตร 
          - ถ้าบ้านที่คนตายอยู่ในเขตท้องที่เทศบาล ให้ไปแจ้งการตายที่งานทะเบียน ของสำนักงานเขตเทศบาลที่มีคนตายหรือพบศพนั้น  กรณีนี้จะไม่มีหลักฐานใบรับแจ้งการตาย (ท.ร. ๔ ตอนหน้า)
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
          1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งการตาย หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
          2. บัตรประจำตัวประชาชนของคนตาย (ถ้ามี)
          3. ใบรับแจ้งการตาย (ท.ร. ๔ ตอนหน้า) ที่ผู้ใหญ่บ้านออกให้ (ถ้ามี)
          4. สำเนาทะเบียนบ้านที่คนตายมีชื่ออยู่ (ถ้ามี)
          5. พยานบุคคลที่รู้เห็นการตาย หรือการพบศพ เช่น เพื่อนบ้าน 

2.กรณีคนตายนอกบ้าน เช่น ตายที่ศาลพักผู้โดยสาร บนรถยนต์ ห้างนา ตามป่าเขา เป็นต้น ผู้ที่มีหน้าที่ต้องแจ้งการตาย ได้แก่
          1. บุคคลที่ไปพบผู้ตายในขณะที่เกิดเหตุ
          2. ผู้พบศพ
          การแจ้งการตายกรณีนี้ จะต้องแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตายหรือเวลาที่พบศพ โดยวิธีแจ้งการตายและหลักฐานในการแจ้งนั้น ให้ใช้เช่นเดียวกันกับกรณีคนตายในบ้าน
การแจ้งการตายเกินกำหนดเวลา
          เมื่อมีคนตายแล้วไม่ได้แจ้งการตายภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย เจ้าบ้านของบ้านหลังที่มีคนตาย หรือผู้พบศพ สามารถไปขอแจ้งการตายเกินกำหนดเวลาได้ โดยจะต้องเสียค่าปรับตามความผิดฐานไม่แจ้งการตายภายในกำหนดระยะตามกฎหมาย
การแจ้งตายกรณีพบศพโดยไม่ทราบว่าคนตายเป็นใคร
          ผู้พบศพจะต้องแจ้งการตายเช่นเดียวกับกรณีคนตายในบ้าน โดยเมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งการตายแล้ว จะต้องแจ้งไปยังพนักงานฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อทำการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายเสียก่อน เพื่อให้ทราบว่าคนตายเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด เมื่อได้รับแจ้งความเห็นจากพนักงานสอบสวนแล้ว จึงจะออกใบตายหรือใบมรณบัตรได้

การแจ้งเกิด

1. กรณีเด็กเกิดในโรงพยาบาล สถานีอนามัยหรือสถานพยาบาล
          
เด็กที่เกิดในโรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือสถานพยาบาลต่างๆ ผู้ทำคลอดจะต้องออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. ๑/๑) ให้ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้ในการแจ้งเกิด โดยผู้ที่มีหน้าที่แจ้งการเกิดของเด็กนั้น ได้แก่
            1. หัวหน้าของโรงพยาบาล สถานีอนามัยหรือสถานพยาบาลนั้น ซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าบ้าน แล้วแต่กรณี
            2. บิดาของเด็กทีเกิด
            3. มารดาของเด็กที่เกิด
ระยะเวลาในการไปแจ้งเกิด
          ต้องไปทำการแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เด็กเกิด
สถานที่แจ้งเกิด
          - ถ้าโรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือสถานพยาบาลที่เด็กเกิดนั้นตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ให้แจ้งการเกิดที่งานทะเบียนในเขตเทศบาลนั้น
          - ถ้าโรงพยาบาล สถานีอนามัยตั้งอยู่นอกเขตเทศบาล ให้ไปแจ้งการเกิดที่สำนักงานทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่นั้น
หลักฐานที่ต้องนำแสดงด้วย
          1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ไปแจ้งเกิด
          2. หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. ๑/๑) ที่โรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือสถานพยาบาลที่เด็กเกิดออกให้
          3. สำเนาทะเบียนบ้านที่จะเพิ่มชื่อเด็กเข้าไปอยู่
กรณีเด็กเกิดนอกสถานพยาบาล
          1. กรณีเด็กเกิดในบ้าน เช่น บ้านของบิดา มารดา ญาติพี่น้อง ฯลฯ บุคคลผู้ที่มีหน้าที่แจ้งการเกิดของเด็ก คือ
            - เจ้าบ้านของบ้านที่เด็กเกิดนั้น
            - บิดาของเด็กที่เกิด
            - มารดาของเด็กที่เกิด
ระยะเวลาในการแจ้งเกิด ภายใน 15 วันนับแต่เด็กเกิด โดยมีขั้นตอนการดำเนินการดังต่อไปนี้
            - ถ้าบ้านที่เด็กเกิด อยู่ในเขตท้องที่ของที่ว่าการอำเภอ ให้แจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านที่เด็กเกิด โดยผู้ใหญ่บ้านในฐานะนายทะเบียนผู้รับแจ้งประจำหมู่บ้านจะรับแจ้งการเกิด และออกหลักฐานใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร ๑ ตอนหน้า) ให้เป็นหลักฐาน เมื่อได้รับใบแจ้งการเกิดแล้ว เจ้าบ้าน บิดาหรือมารดาของเด็กที่เกิดแล้วแต่กรณี จะต้องนำหลักฐานดังกล่าวไปแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อขอให้ออกใบเกิด หรือใบสูติบัตรได้  หรือหากผู้แจ้งสะดวกที่จะไปแจ้งการเกิดของเด็กที่งานทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ โดยยังไม่ได้แจ้งการเกิดกับผู้ใหญ่บ้านก็สามารถแจ้งการเกิดได้เช่นกัน
             - ถ้าบ้านที่เด็กเกิดอยู่ในเขตท้องที่เทศบาล ให้ผู้แจ้งไปแจ้งการเกิดของเด็กที่งานทะเบียนในเขตเทศบาลที่เด็กเกิดนั้น ซึ่งกรณีนี้จะไม่มีหลักฐานใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร ๑ ตอนหน้า) 
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
          1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งการเกิด
          2. ใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร ๑ ตอนหน้า) ที่ผู้ใหญ่บ้านออกให้ (ถ้ามี)
          3. สำเนาทะเบียนบ้านที่จะเพิ่มชื่อเด็กเข้าไป
          4. พยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดของเด็ก เช่น หมอตำแย เพื่อนบ้าน เป็นต้น

2. กรณีเด็กเกิดนอกบ้าน  เช่น บนรถโดยสาร ที่ศาลาข้างทาง บนรถแท็กซี่ เป็นต้น ผู้ที่มีหน้าที่แจ้งการเกิดของเด็ก  คือ
          1. บิดาของเด็กที่เกิด
          2. มารดาของเด็กที่เกิด
          การแจ้งการเกิดในกรณีนี้ จะต้องแจ้งภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่เด็กเกิดเช่นกัน แต่ถ้าหากมีเหตุจำเป็นอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถไปแจ้งการเกิดได้ภายในกำหนด ก็สามารถขยายเวลาการแจ้งเกิดได้ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่เด็กเกิด โดยวิธีการแจ้งการเกิดและหลักฐานที่จะต้องนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่นั้น ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับกรณีเด็กเกิดในบ้าน
ข้อควรรู้
          1. หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. ๑/๑) ที่โรงพยาบาลออกนั้น รวมทั้งใบรับแจ้งเกิด (ท.ร. ๑ ส่วนหน้า) ที่ผู้ใหญ่บ้านออกให้นั้น ไม่ใช่ใบเกิดหรือใบสูติบัตร
          2. เด็กที่เกิดในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นบุตรของคนไทย หรือคนต่างด้าว สามารถจะไปแจ้งเกิดและมีสิทธิจะได้รับหลักฐานการเกิด ด้วยเช่นกัน
          3. การรับแจ้งการเกิด และการออกใบสูติบัตร หรือใบเกิด ไม่ต้องเสียค่ะรรมเนียมแต่อย่างใด
          4. การไม่ไปแจ้งเกิดของเด็กภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่เด็กเกิด เป็นความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
          5. ในการแจ้งการเกิดของเด็ก จะต้องแจ้งชื่อเด็กไปในคราวเดียวกันด้วย เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้จดบันทึกลงไปในใบสูติบัตร หรือใบเกิดนั้น 
การแจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา
          กรณีที่ไม่ได้แจ้งการเกิดภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เกิด เจ้าบ้านที่เด็กเกิด หรือบิดามารดาของเด็กสามารถไปแจ้งการเกิดเกินกำหนดได้ โดยอาจจะต้องเสียค่าปรับในความผิดฐานไม่แจ้งการเกิดภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
สถานที่แจ้งเกิด
          - ถ้าเด็กเกิดในเขตท้องที่ของเทศบาล ก็ให้ไปแจ้งการเกิดที่งานทะเบียนในเขตเทศบาลนั้น
          - ถ้าเด็กเกิดในนอกเขตเทศบาล ก็ให้ไปแจ้งการเกิดได้ที่งานทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอในท้องที่ที่เด็กเกิดนั้น
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
          1. บัตรประจำตัวประชาชนของผุ้แจ้ง
          2. บัตรประจำตัวของบิดามารดาของเด็กที่แจ้งเกิด (ถ้ามี)
          3. สำเนาทะเบียนบ้านที่จะเพิ่มชื่อเด็กเข้าไปอยู่
          4. พยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดของเด็ก เช่น หมอตำแย เพื่อนบ้าน เป็นต้น
          5. เอกสารอื่นๆ เพื่อ ประกอบการพิจารณารับแจ้ง เช่น หนังสือรับรองการเกิด (ถ้ามี) สำเนาทะเบียนนักเรียน เป็นต้น
การแจ้งเกิดกรณีเด็กที่บิดามารดาทอดทิ้ง
          เมื่อมีผู้พบเห็นเด็กแรกเกิด หรือเด็กเล็กที่มีอายุไม่เกิน 7 ปี ถูกทอดทิ้ง ผู้ที่พบเห็นเด็กจะต้องแจ้งการพบเด็กนั้น พร้อมทั้งนำตัวเด็กไปส่งต่อพนักงานฝ่ายปกครอง (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอ) เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (เจ้าหน้าที่ประชาสงเคราะห์) เพื่อทำหลักฐานการรับตัวเด็ก และดำเนินการแจ้งการเกิดให้กับเด็กตามที่กฎหมายกำหนด
การแจ้งเกิดสำหรับเด็กที่เกิดต่างประเทศ
          บุตรของบุคคลสัญชาติไทยที่เกิดในต่างประเทศ สามารถไปแจ้งการเกิดได้ที่สถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทย ที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ ได้



ฟ้องคดีผู้บริโภค


 

               การฟ้องคดีผู้บริโภคนั้น ท่านในฐานะผู้บริโภคควรทราบเกี่ยวกับประเภทของคดีผู้บริโภคว่ามีประเภทคดีใด บ้าง เมื่อท่านในฐานะผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิและได้รับความเสียหาย จะได้มีโอกาสเรียกร้องค่าเสียหายนั้นได้โดยการใช้สิทธิทางศาล

คดีผู้บริโภค มีประเภทของคดีดังนี้
     ๑.   คดีซื้อขาย
          ๑.๑ ซื้อขาย (บ้าน , อาคารพาณิชย์)
          ๑.๒ ซื้อขาย (อาคารชุด)
          ๑.๓ ซื้อขาย (ที่ดินเปล่า)
          ๑.๔ ซื้อขายสินค้าอุปโภค
          ๑.๕ ซื้อขายสินค้าบริโภค
          ๑.๖ ซื้อขาย(อื่นๆ)
     ๒. เช่าทรัพย์
           ๒.๑ เช่าทรัพย์ (บ้าน)
           ๒.๒ เช่าทรัพย์ (อาคารชุด)
           ๒.๓ เช่าทรัพย์ (หอพัก)
           ๒.๔ เช่าทรัพย์ (สำนักงาน)
           ๒.๕ เช่าทรัพย์ (รถยนต์)
           ๒.๖ เช่าทรัพย์ (รถจักรยานยนต์)
           ๒.๗ เช่าทรัพย์ (อื่นๆ)
    ๓. เช่าซื้อ
           ๓.๑ เช่าซื้อ (รถยนต์)
           ๓.๒ เช่าซื้อ (รถจักรยานยนต์)
           ๓.๓ เช่าซื้อ (อื่นๆ)
    ๔. จ้างทำของ
    ๕. รับขน (บริการขนส่ง)
          ๕.๑ รับขน (บริการขนส่งทางบก)
          ๕.๒ รับขน (บริการขนส่งทางน้ำ)
          ๕.๓ รับขน (บริการขนส่งทางอากาศ)
    ๖. สินเชื่อบุคคล / กู้ยืม / ค้ำประกัน
    ๗. บัตรเครดิต
    ๘. กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
    ๙. ประกันภัย
           ๙.๑ ประกันชีวิต
           ๙.๒ ประกันวินาศภัย
    ๑๐. สินค้าไม่ปลอดภัย
           ๑๐.๑ สินค้าไม่ปลอดภัย (ยา)
           ๑๐.๒ สินค้าไม่ปลอดภัย (อาหาร)
           ๑๐.๓ สินค้าไม่ปลอดภัย (เครื่องสำอาง)
           ๑๐.๔ สินค้าไม่ปลอดภัย (ยานพาหนะ)
           ๑๐.๕ สินค้าไม่ปลอดภัย (เครื่องใช้ไฟฟ้า)
           ๑๐.๖ สินค้าไม่ปลอดภัย (อุปกรณ์สื่อสาร)
           ๑๐.๗ สินค้าไม่ปลอดภัย (เชื้อเพลิง)
           ๑๐.๘ สินค้าไม่ปลอดภัย (สินค้าอุปโภคอื่นๆ)
           ๑๐.๙ สินค้าไม่ปลอดภัย (สินค้าบริโภคอื่นๆ)
    ๑๑. บริการสาธารณูปโภค
           ๑๑.๑ บริการสาธารณูปโภค (น้ำประปา)
           ๑๑.๒ บริการสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า)
           ๑๑.๓ บริการสาธารณูปโภค (โทรคมนาคม)
    ๑๒. บริการสาธารณสุขและความงาม
           ๑๒.๑ บริการสาธารณสุขและความงาม (สถานพยาบาลของรัฐ)
           ๑๒.๒ บริการสาธารณสุขและความงาม (สถานพยาบาลเอกชน)
           ๑๒.๓ บริการสาธารณสุขและความงาม (สถานบริการความงามและสุขภาพ)
            ๑๒.๔ บริการสาธารณสุขและความงาม (ร้านขายยา)
    ๑๓. บริการท่องเที่ยว
           ๑๓.๑ บริการท่องเที่ยว (นำเที่ยว)
           ๑๓.๑ บริการท่องเที่ยว (โรงแรม)
    ๑๔. สื่อสารมวลชน
    ๑๕. บริการธุรกรรมทางธนาคาร
    ๑๖. บริการหลักทรัพย์และกองทุนรวม
    ๑๗. บริการด้านการศึกษา
    ๑๘. นิติบุคคลอาคารชุด
    ๑๙. นิติบุคคลบ้านจัดสรร
 
        หากท่านซึ่งเป็นผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิและได้รับความเสียหายเรายินดีบริการจัดเตรียมคำฟ้องคดีผู้บริโภคให้ท่าน
 
รูปแบบการฟ้องคดีผู้บริโภคของท่านที่เราจะรับบริการจะมีโครงสร้างคำฟ้องคดีผู้บริโภคดังนี้
 
     (๑) บรรยายฐานะและอำนาจของโจทก์ โดยบรรยายว่าโจทก์เป็นใคร มีอำนาจอย่างไร
     (๒) บรรยายฐานะ หน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลย
     (๓) บรรยายถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลย
     (๔) บรรยายการกระทำที่จำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์อย่างชัดเจนว่าเป็นอย่างไร
     (๕) บรรยายว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร เสียสิทธิอย่างไร
     (๖) บรรยายว่าก่อนฟ้องได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายบังคับ หรือสัญญากำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร
     (๗) เอกสารท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องซึ่งต้องแนบไปด้วย
 
คำขอท้ายฟ้องที่ตรงกับเนื้อหาในฟ้อง
 
เอกสารหลักฐานในการยื่นฟ้องคดีผู้บริโภค คือ
 
     (๑) ชื่อที่อยู่จำเลย หรือ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล
     (๒) เอกสารหลักฐานการซื้อสินค้า การใช้บริการ หรืออื่นๆที่ เกี่ยวข้อง
     (๓) ความเสียหายของท่านที่เกิดจากการใช้สินค้าหรือบริการ
     (๔) ค่าเสียหายที่ท่านประสงค์จะเรียกร้อง
 
ข้อตกลงในการรับบริการ (จัดทำคำฟ้องคดีไม่มีข้อยุ่งยาก คดีมโนสาเร่ หรือคดีผู้บริโภค)
 
     (๑) ท่านผู้รับบริการเป็นโจทก์โดยประเภทของคดีคือ คดีไม่มีข้อยุ่งยาก หรือคดีมโนสาเร่ หรือคดีผู้บริโภค ที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท
     (๒) ท่านผู้รับบริการเป็นผู้ดำเนินคดีในศาลด้วยตนเอง
     (๓) เราจัดเตรียมเอกสารทางกฎหมายให้เท่านั้น
     (๔) ท่านผู้รับบริการมีหน้าที่ชำระค่าบริการทั้งสิ้นเพียง ๕,๐๐๐ บาทเท่านั้น โดยชำระครั้งแรก ๓,๐๐๐ บาท และเมื่อเราเตรียมเอกสารให้ท่านผู้รับบริการครบถ้วนแล้ว ท่านผู้รับบริการต้องชำระส่วนที่เหลืออีก ๒,๐๐๐ บาท หากทุนทรัพย์ที่ฟ้องเกินจำนวนในข้อ (๑) เราขอคิดค่าบริการจากท่านผู้รับบริการเพิ่มอีกเพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น โดยต้องตกลงกันเป็นเฉพาะกรณีๆไป
     (๕) ท่านผู้รับบริการต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ค่านำส่งหมาย และค่าธรรมเนียมอื่นๆที่ศาลเอง
     (๖) ท่านผู้รับบริการส่งเอกสารให้เราทางไปรษณีย์อีเอ็มเอส (หากมีเวลาจำกัด)
     (๗) เราส่งเอกสารในการดำเนินคดีให้ผู้รับบริการทางไปรษณีย์อีเล็กโทรนิกส์ (e-mail) หรือ EMS
 
เมื่อได้รวบรวมเอกสารครบถ้วนแล้ว ขอให้ท่านดำเนินการดังนี้

     (๑) ถ่ายเอกสารบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องข้างต้นเพื่อส่งให้เรา
     (๒) ส่งเอกสารที่จัดเตรียมไว้และสำเนาหลักฐานการโอนเงินมาทางไปรษณีย์ 
 
เมื่อเราได้รับเอกสารจากท่านแล้วเราจะรีบติดต่อท่านเพื่อสอบถามขอเท็จจริง เพิ่มเติมและเพื่อให้คำปรึกษาแก่ท่านแล้วจะรีบจัดเตรียมเอกสารทางกฎหมายให้ ท่านดังนี้
     (๑) เรียงคำฟ้องคดีคดีไม่มีข้อยุ่งยาก คดีมโนสาเร่ หรือคดีผู้บริโภคแก่ท่าน
     (๒) เตรียมหมายนัดคดีไม่มีข้อยุ่งยาก คดีมโนสาเร่ หรือคดีผู้บริโภคแก่ท่าน
     (๓) จัดเตรียมบัญชีพยานโจทก์
     (๔) จัดเตรียมคำแถลงขอปิดหมาย
     (๕) จัดเตรียมคำให้การพยานโจทก์
     (๖) จัดเตรียมคำแนะนำวิธียื่นฟ้องในศาลเฉพาะเรื่องของท่าน
     (๗) ส่งเอกสารทั้งหมดให้แก่ท่านทางไปรษณีย์อีเล็กโทรนิกส์ (e-mail) หรือทาง EMS

 


                                                                      ค่าสินไหมทดแทน

มาตรา 443 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่า งอื่นๆ ด้วย...”
วรรสอง “ถ้ามิได้ตายทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประ โยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้น ด้วย...”
วรรคท้าย “ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้น ทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องขาดไ ร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อกา รนั้น...”
*หลักเกณฑ์ -เรื่องค่าสินไหมทดแทนในกรณีทำใ ห้เขาตาย (มาตรา ๔๔๓ – ๔๔๕) ได้แก่*
๑. ค่าปลงศพ (ม.๔๔๓ ว.๑)
๒. ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆ (ม.๔๔๓ ว.๑)
๓. ค่ารักษาพยาบาลก่อน (ม.๔๔๓ ว.๒)
๔. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย (ม.๔๔๓ ว.๒)
๕. ค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย (ม.๔๔๓ ว.๓)
๖. ค่าขาดแรงงาน (ม.๔๔๕)
ค่าสินไหมทดแทนในกรณีทำให้เขาตา 
- ค่าปลงศพ (มาตรา ๔๔๓ วรรคแรก, ๑๖๔๙)
ฎ.๑๔/ ๒๕๑๗ กรณีผู้ละเมิดขับรถยนต์โดยประมาทชนรถย นต์ของบิดาโจทก์เสียหายและเป็นเ หตุให้บิดาโจทก์ถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บ ิดาโจทก์ผู้ตายรับรองแล้ว มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าปลงศพขอ งบิดาโจทก์ผู้ตาย และมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทด แทนรถยนต์ของบิดาโจทก์ที่ถูกชนเ สียหายนั้นด้วย
ฎ.๕๑๒๙/ ๒๕๔๖ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะและค่าป ลงศพกับค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพอันเป็นความรับผิดชอบตามกฎหมาย แม้จะมีบุคคลภายนอกนำเงินมาให้โจทก์เพื่อช่วยเหลืองานศพหรือจัดการศพเด็กชาย พ. ก็ไม่อาจทำให้ความรับผิดชอบตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 ต้องหมดไปหรือลดน้อยลงไปได้ กรณีจึงไม่อาจนำเงินช่วยงานศพที่โจทก์ได้รับจากสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนมาหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ได้
ฎ.๙๒๘/๒๕๕๐ เงินที่จำเลยที่ 2 ช่วยค่าทำศพจำนวน 10,000 บาท เป็นการช่วยเหลือค่าปลงศพให้แก่โจทก์ทั้งสองบางส่วนตามหลักมนุษยธรรม มิใช่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ช่วยค่าทำศพโดยยอมรับผิดและมิได้มอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง แต่เป็นการให้ในลักษณะร่วมทำบุญอันเป็นการสำนึกในศีลธรรม จึงนำมาหักกับจำนวนเงินค่าปลงศพที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกร้องไม่ได้
- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย (มาตรา ๔๔๓ วรรคสอง)
ฎ.๔๓๕๒/๒๕๕๐ ค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานตาม ป.พ.พ.มาตรา 443 วรรคสอง คือค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ละเมิดจำต้องใช้แก่ผู้เสียหายที่ยังไม่ถึงตาย แต่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานเท่านั้น หาใช่ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ทำละเมิดจำต้องใช้หลังจากผู้เสียหายนั้นถึงแก่ความตายแล้วด้วยไม่
- ค่าขาดไร้อุปการะ (มาตรา ๔๔๓ วรรคสาม)
ฎ.๖๓๙๓/๒๕๕๑ ในการทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม ประกอบมาตรา 1563 ไม่ว่าในขณะเกิดเหตุผู้ตายจะได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองจริงหรือไม่ และในอนาคตจะอุปการะกันหรือไม่
ฎ.๑๔๐๙/๒๕๔๘ ป.พ.พ.มาตรา 443 วรรคสาม กำหนดให้ผู้กระทำละเมิดในกรณีทำให้เขาถึงตายรับผิดต่อบุคคลที่ต้องขาดไร้อุปการะเฉพาะที่ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะตามกฎหมายเท่านั้น แต่มาตรา 1563 และมาตรา 1564 ที่บัญญัติให้บุตรและบิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูกันนั้น หมายถึง บุตรและบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้บิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฎหมาย ดังนั้น แม้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วจะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของบิดาได้ แต่ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิด
- ค่าขาดแรงงาน (มาตรา ๔๔๕)
ฎ.๕๑๘๓/๒๕๓๗ แม้ก่อนตายผู้ตายจะมีรายได้จากการขับรถยนต์สองแถวรับจ้างนำรายได้มาเลี้ยงครอบครัวโจทก์ก็ตาม แต่ขณะถึงแก่ความตายผู้ตายมีอายุเพียง 19 ปี ซึ่งตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42 ผู้ตายต้องห้ามมิให้ขับรถยนต์สองแถวรับจ้างซึ่งจัดเป็นรถยนต์สาธารณะตามกฎหมายดังกล่าว การขับรถยนต์สองแถวรับจ้างของผู้ตายถือไม่ได้ว่าเป็นการทำงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(3)โจทก์ผู้เป็นมารดาไม่มีสิทธิใช้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรให้ทำงานดังกล่าว ฉะนั้น รายได้จากการขับรถยนต์สองแถวรับจ้างจึงมิใช่รายได้ที่เกิดจากการที่ผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในครัวเรือนดังความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ไม่ได้
-ค่าสินไหมทดแทนกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัย
ฎ.๒๔๕๕/๒๕๑๙(ประชุมใหญ่) แม้โจทก์เป็นข้าราชการได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลบุตรผู้เยาว์ซึ่งถูกทำละเมิดจากทางราชการแล้ว ก็ยังมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยผู้ต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดอีกได้ เพราะสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินดังกล่าวจากทางราชการ เป็นสิทธิที่รัฐกำหนดให้แก่ข้าราชการ ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลย
ในการละเมิดทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัย ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องค่าเสียหายอย่างใดได้บ้างมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444,445,และ 446 ซึ่งหาได้ให้สิทธิแก่บิดาที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งทุพพลภาพเพราะถูกกระทำละเมิดต่อไปในอนาคตไม่
ฎ.๒๓๔๑/๒๕๔๘ ค่าขาดประโยชน์ที่มารดาของเด็กชาย ด. ไม่ได้ประกอบการงานในระหว่างที่เฝ้าดูแลรักษาเด็กชาย ด. มิใช่ค่าเสียหายที่เด็กชาย ด. พึงเรียกร้องได้ในกรณีที่มีผู้ทำละเมิดต่อเด็กชาย ด. ทำให้เด็กชาย ด. ได้รับความเสียหายแก่กายหรืออนามัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 444, 445 และ 446
- ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป (มาตรา ๔๔๔)
ฎ.๗๑๑๙/๒๕๔๑ ค่าเสียหายจำนวน 40,000 บาท ซึ่งโจทก์ที่ 4 จ่ายให้แก่คณะแพทย์ของโรงพยาบาลในการทำการฝ่าตัดเพื่อช่วยชีวิตเด็กหญิง ส. นั้น ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นสินน้ำใจที่โจทก์ที่ 4 จ่ายให้แก่คณะแพทย์เองโดยที่คณะแพทย์ ไม่ได้เรียกร้องเป็นความพอใจของโจทก์ที่ 4 ที่ต้องการตอบแทน คณะแพทย์ที่ช่วยเหลือบุตรสาวของตน การจ่ายนี้ไม่อาจกำหนดจำนวนที่แน่นอน ไม่มีหลักเกณฑ์และกฎหมายรองรับ จึงไม่อาจเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ // การที่เด็กหญิง ส. บาดเจ็บสาหัสต้องหยุดเรียนไปนานจึงเป็นการจำเป็นต้องจ้างครูมาสอนพิเศษ ส่วนการเรียนเปียโนก็เป็นการฟื้นฟูจิตใจของเด็กหญิง ส. ซึ่งบาดเจ็บสาหัสและต้องกระทบกระเทือนจิตใจจากใบหน้าที่เสียโฉมถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้เสียหายชอบที่จะได้รับการชดใช้ จากผู้กระทำละเมิด
ฎ.๕๑๖/๒๕๕๑ ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเป็นค่าเครื่องรับโทรทัศน์และตู้เย็นในห้องพักผู้ป่วยเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อำนวยความสะดวกอันจำเป็นแก่ผู้ป่วยและคนเฝ้าไข้ ทั้งโรงพยาบาลได้จัดเตรียมไว้ให้ใช้ในห้องอยู่แล้ว ถือเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่โจทก์ต้องเสียไป จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
ฎ.๓๓๕๗/๒๕๓๘ ค่ารักษาพยาบาลเป็นค่าเสียหายฐานละเมิดแม้บิดาโจทก์จะเบิกจากทางราชการและทางราชการได้จ่ายค่าเสียหายในส่วนนี้แทนโจทก์ไปแล้วก็เป็นสิทธิเฉพาะตัวของบิดาโจทก์ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่2 โจทก์จึงยังมีสิทธิเรียกร้องเอาค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยที่2ผู้ต้องรับผิดฐานละเมิดได้ และกรณีเป็นคนละเรื่องกับการที่โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินในกรณีถูกทำละเมิดจนได้รับอันตรายแก่กายหรือถึงแก่ชีวิต

เมื่อโจทก์ออกจากโรงพยาบาลแล้วโจทก์ยังต้องได้รับการรักษาโดยทางกายภาพบำบัดต้องมีผู้มาทำกายภาพบำบัดให้ที่บ้านของโจทก์อีกเป็นเวลา3เดือนเชื่อว่าโจทก์ต้องเสียค่าจ้างคนมาทำกายภาพบำบัดให้แม้โจทก์ไม่มีใบเสร็จรับเงินมาแสดงโจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ ค่าจ้างบุคคลอื่นดูแลโจทก์ในระหว่างการรักษาพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลนั้นแม้โจทก์จะไม่มีใบเสร็จรับเงินมาแสดงและไม่มีรายละเอียดว่าได้จ่ายค่าจ้างไปเท่าใดก็ตาม แต่การที่โจทก์ได้รับบาดเจ็บขาหักหลายแห่งต้องผ่าตัดหลายครั้งและต้องทำการกายภาพบำบัดทั้งขณะอยู่ที่โรงพยาบาลและออกจากโรงพยาบาลแล้วใช้เวลารักษาในโรงพยาบาลนานถึง129 วันจำเป็นต้องมีผู้ดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดเพราะโจทก์ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นนักเรียนกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่6 โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสต้องพักรักษาตัวหลายเดือนต้องขาดเรียนและเรียนซ้ำชั้นโจทก์ย่อมได้รับความทุกข์ทรมานทางกายและจิตใจมากโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินในส่วนนี้ได้และไม่ใช่ค่าเสียหายที่ไกลเกินเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา446
- ค่าเสียความสามารถประกอบการงาน (มาตรา ๔๔๔)
ฎ.๑๘๑๒/๒๕๓๕ การขาดแรงงานในครอบครัว, ค่าอาหารเลี้ยงดูแขกที่มาร่วมงานศพกับค่าของและเงินถวายพระเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพ, ค่าสินไหมทดแทนการขาดไร้อุปการะ เป็นหนี้เงินที่จะต้องชำระทันที จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำละเมิดซึ่งเป็นวันผิดนั
ฎ.๕๒๒๐/๒๕๓๙ กรณีโจทก์ถูกทำละเมิดจนต้องกลายเป็นคนทุพพลภาพ ค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายในอนาคต, ค่าจ้างคนขับรถยนต์ตลอดชีวิต, ค่าเสียหายมิใช่ตัวเงินกรณีเสียโฉมและเสียบุคลิกภาพ, ค่าเสียความสามารถประกอบการงานในอนาคต และค่าทุกข์ทรมานเป็นหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งศาลกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเสียหายมาแล้วตั้งแต่วันทำละเมิดเมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินก้อนแม้จะขอค่าเสียหายที่คำนวณในอนาคตเข้ามาด้วยจำเลยก็ต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด
- ค่าขาดแรงงาน (มาตรา ๔๔๕)
ฎ.๖๙๐๕/๒๕๓๘ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 445 และมาตรา1567 แสดงให้เห็นว่าหากบิดาหรือมารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้มอบหน้าที่ให้บุตรทำการงานอันใดอันหนึ่งในครัวเรือนแล้วปรากฏว่ามีบุคคลใดทำละเมิดต่อบุตรซึ่งมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้แก่บิดามารดาจนถึงแก่ความตายผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือค่าขาดแรงงานในครัวเรือนให้แก่บิดามารดาที่ต้องขาดแรงงานนั้นด้วย // และการฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานดังกล่าวมิใช่การฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา443วรรคสาม ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ตายได้ให้ผู้ตายช่วยดำเนินกิจการของบริษัท ว.ที่โจทก์ทั้งสองได้จัดตั้งขึ้นและโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทแต่บริษัท ว. เป็นนิติบุคคลต่างหากการที่ผู้ตายช่วยดำเนินกิจการของบริษัท ว. จะถือว่าผู้ตายช่วยดำเนินกิจการของโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่และเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งสองต้องจ้างบุคคลภายนอกมาทำงานแทนผู้ตายก็เป็นการจ้างมาทำงานให้แก่บริษัท ว.หากเป็นกรณีที่ต้องขาดแรงงานบริษัท ว. ก็คือบุคคลที่ต้องขาดแรงงานหาใช่โจทก์ทั้งสองไม่โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานจากจำเลย
- ค่าเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงิน (มาตรา ๔๔๖)
ฎ.๕๗๕๑/๒๕๔๔ ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 446 หมายความว่า ความเสียหายอันไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ แต่ความเสียหายเช่นว่านี้ต้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำละเมิดจำเป็นต้องเยียวยาหรือทดแทนความเสียหายให้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีความเสียหายมากยิ่งกว่าความเสียหายต่อร่างกายอีกด้วย ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน เช่น ความเจ็บปวดทนทุกขเวทนาระหว่างการรักษาพยาบาลหรือต้องทุพพลภาพพิการต่อไป ความเสียหายเช่นว่านี้กฎหมายให้ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด เพราะค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินย่อมจะนำสืบคิดเป็นจำนวนเงินเท่าใดไม่ได้อยู่ในตัว เมื่อพิจารณาจากลักษณะบาดแผลกับวิธีการรักษาบาดแผลของโจทก์ที่ 1 ซึ่งต้องผ่าตัดและเข้าเฝือกหลายครั้ง ต้องรับการรักษาเป็นเวลานานร่วม 3 ปี ต้องทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวดของบาดแผลในระหว่างการรักษาอันเป็นเวลานานยิ่งกว่านั้นสภาพแขนซ้ายของโจทก์ที่ 1 ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิตทั้งเสียบุคลิกภาพเนื่องจากผลของการผ่าตัดทำให้แขนซ้ายสั้นกว่าแขนขวา ถือว่าเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินที่โจทก์ที่ 1ชอบจะเรียกร้องได้
ฎ.๒๕๘๐/๒๕๔๔ โจทก์เป็นหญิงรับราชการเป็นอาจารย์โดยตำแหน่งหน้าที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมากแต่ต้องเสียบุคลิกภาพ ใบหน้าเสียโฉมเนื่องจากหนังตาแหว่งเห็นตาขาวมากกว่าปกติ ย่อมเป็นความทุกข์ทรมานที่โจทก์รู้สึกได้อยู่ตลอดเวลาตราบจนความเสียโฉมดังกล่าวจะได้รับการแก้ไข ค่าที่โจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานกับค่าที่โจทก์ต้องสูญเสียบุคลิกภาพตั้งแต่จำเลยผ่าตัดโจทก์จนโจทก์ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 446 วรรคแรก
ฎ.๕๓๓/๒๕๕๒ เมื่อโจทก์ต้องเสียความสามารถในการมองเห็น เนื่องจากโจทก์เสียตาข้างซ้ายทำให้ไม่สามารถมองภาพได้ละเอียดและกว้างเท่าคนปกติถือว่าเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 446 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ.ผู้ทำละเมิดจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว หาใช่ต้องกำหนดเป็นค่ารักษาพยาบาลไม่ และค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสื่อมสุขภาพอนามัย ต้องเสียโฉม ได้รับความเจ็บปวดทรมานเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 446 วรรคหนึ่ง
ฎ.๒๘๑๖/๒๕๒๘ การที่โจทก์ได้รับความเศร้าโศกเสียใจ เนื่องจากได้รับโทรเลขที่จำเลยที่ 1ปรุข้อความผิดเป็นว่าบุตรสาวโจทก์ถึงแก่กรรมแล้วนั้น ความเศร้าโศกเสียใจของโจทก์เป็นเพียงอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อทราบข่าวร้าย ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติให้สิทธิโจทก์เรียกค่าเสียหายในเรื่องนี้ได้

                                                                       ภาระจำยอมที่ดิน
ที่ดินที่มีหลักฐานที่ดีที่สุด คือโฉนดที่ดิน ซึ่งแสดงว่าบุคคลที่มีชื่อในโฉนดนั้น เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดที่ดินนั้น มีทั้งโฉนดที่ดินด้านหลังสีดำและด้านหลังสีแดง โฉนดที่ดินหลังแดง นั้นหมายถึงที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนให้แก่กันตามกฎหมายภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันออกโฉนดที่ดิน ดังนั้นหากมีการซื้อขายกันภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอน การซื้อขายที่ดินย่อมตกเป็นโมฆะ ผู้ซื้อที่ดินย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อ
ทางภาระจำยอม หมายถึง เจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งใช้ทางเดิน ผ่านที่ดินอีกแปลงหนึ่ง โดยสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาจะให้เป็นทางภาระจำยอมในที่ดินแปลงที่เดินผ่าน ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ทางเดินนั้นย่อมเป็นทางภาระจำยอม หากเจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกเดินผ่านปิดทางไม่ยอมให้ผ่าน เจ้าของที่ดินแปลงที่ใช้ทางเดินย่อมฟ้องขอให้เปิดทางและขอให้จดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมได้
การได้มาซึ่งภาระจำยอมมี 3 วิธี คือ
1.โดยนิติกรรม เป็นการตกลงระหว่างเจ้าของที่ดินที่จะให้ที่ดินแปลงหนึ่งตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอีกแปลงหนึ่ง โดยจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้แล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน
2.โดยอายุความ เป็นกรณีที่เจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งได้ใช้สอยที่ดินแปลงอื่น โดยสงบเปิดเผย และด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินแปลงนั้นติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ย่อมได้ภาระจำยอมเหนือที่ดินแปลงอื่น
3.โดยผลของกฎหมาย เช่นผู้ที่ปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต มีสิทธิจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอมเหนือที่ดินเฉพาะส่วนที่รุกล้ำ แต่ต้องเสียเงินเป็นค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่รุกล้ำนั้น


Advertising Zone    Close
 
Online:  2
Visits:  157,028
Today:  32
PageView/Month:  798

ยังไม่ได้ลงทะเบียน

เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์กับ Siam2Web.com